โปรโมชั่นสมาร์ทโฟน

LIV

Others

5 ข้อควรรู้ ยื่นภาษีอย่างไร
ให้ได้เงินคืน
ปีภาษี 2562

Share

ผ่านปี 2562 ไป เราก็คงจะทิ้งทุกสิ่งอย่างเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ในปี 2563 แต่ลืมอะไรไปหรือเปล่า เทศกาลยื่นภาษีปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ดีของพลเมืองไทยผู้มีรายได้ทุกคน การยื่นภาษีมีผลลัพธ์คือ เสียเพิ่ม เท่าทุน หรือยื่นภาษีแล้วได้เงินคืน คิดว่าเราหลาย ๆ คนคงอยากจะให้เป็นแบบหลังมากกว่า งั้นเรามาดูเทคนิคการยื่นภาษีอย่างไรให้ได้เงินคืนกันเลย

1. แบบยื่นภาษีถูกต้อง มีทั้งหมด 3 แบบ

  • ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนและรายได้ประเภทอื่นด้วย
  • ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนอย่างเดียว
  • ภ.ง.ด.94 สำหรับผู้ที่มีรายได้ตามมาตรา 40(5)-40(8)

2. คำนวณภาษีอย่างถูกต้อง

แน่นอนว่าการยื่นภาษีเพื่อให้ได้เงินคืน ด่านแรกคือการคำนวณภาษีที่เราต้องจ่ายอย่างถูกต้อง พนักงานออฟฟิศคนไหนที่ทางบริษัททำการหักภาษีให้ทุกเดือนอยู่แล้วก็ง่าย รอยื่นเอกสารลดหย่อนภาษีเพื่อขอเงินคืนได้เลย แต่ใครที่ต้องทำเอง ควรจะรู้วิธีการคำนวณภาษีกันก่อน

หลักการคำนวณภาษี

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องชำระ

  • เงินได้ คือ เงินรายได้ตลอดทั้งปี (ม.ค. - ธ.ค.) รวมโบนัสที่ได้ในปีนั้น ๆ
  • ค่าใช้จ่าย คือ ค่าใช้จ่ายที่ทางกฎหมายกำหนดให้นำมาหักออกจากรายได้ ถือเป็นต้นทุนในการหารายได้ สามารถหักได้ 2 แบบ คือหักตามจ่ายจริง และหักแบบเหมา ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ (พนักงานบริษัทที่มีเงินเดือน หักแบบเหมา 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
  • ค่าลดหย่อน คือ รายการค่าลดหย่อนที่ทางกฎหมายให้นำรายจ่ายส่วนนั้นมาหักลบรายได้ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าประกันสังคม ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ฯลฯ

3. ศึกษาเรื่องค่าลดหย่อนภาษี

  • ค่าลดหย่อนภาษี ถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เราได้เงินคืนจากการยื่นภาษี เพราะนอกเหนือจากค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้วก็ยังมีค่าลดหย่อนประเภทอื่น ๆ ที่สามารถนำมาคำนวณเพื่อทำให้เราเสียภาษีถูกลง หรือได้เงินคืน
  • ค่าลดหย่อนที่พนักงานบริษัททุกคนได้อยู่แล้วคือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าเงินประกันสังคม 9,000 บาท

ตัวอย่างการคำนวณภาษี

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องชำระ

  • เงินเดือน 25,000 บาท (x12) ต่อเดือน + โบนัส 50,000 บาท
  • 350,000 – 100,000 – (60,000 + 9,000) = 181,000 บาท
  • (181,000 – 150,000 (ขั้นแรก)) x 5% = 1,550 บาท

ดังนั้นภาษีที่ต้องเสียในกรณีนี้คือ 1,550 บาท

ตารางอัตราภาษี

ขั้นเงินได้สุทธิตั้งแต่
(บาท)
เงินได้สุทธิจำนวน
สูงสุดของขั้น
(บาท)
อัตราภาษี
(ร้อยละ)
ภาษีสูงสุดในแต่
ละขั้นเงินได้
(บาท)
ภาษีสะสมสูงสุด
ของขั้น
(บาท)
0 - 150,000 150,000 5 ยกเว้น 0
เกิน 150,000 - 300,000 150,000 5 7,500 7,500
เกิน 300,000 - 500,000 200,000 10 20,000 27,500
เกิน 500,000 - 750,000 250,000 15 37,500 65,000
เกิน 750,000 - 1,000,000 250,000 20 50,000 115,000
เกิน 1,000,000 - 2,000,000 1,000,000 25 250,000 365,000
เกิน 2,000,000 - 5,000,000 3,000,000 30 900,000 1,265,000
เกิน 5,000,000 ขึ้นไป - 35 - -
ค่าลดหย่อนภาษีปี 2562

กลุ่มค่าลดหย่อนครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 – 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบิดามารดาคนละ 30,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพคนละ 60,000 บาท
  • ค่าฝากครรภ์และทำคลอดท้องละไม่เกิน 60,000 บาท

กลุ่มค่าลดหย่อนเงินออมและประกัน

  • เบี้ยประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพตัวเองตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท (เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท)
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท
  • ค่าซื้อกองทุน LTF ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท
  • ค่าซื้อกองทุน RMF + กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน รวมกันตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับก้อน RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ ตามจริงไม่เกิน 13,200 บาท แต่เมื่อรวมกับ 2 ข้อก่อนหน้าต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มค่าลดหย่อนเงินบริจาค

  • เงินบริจาคพรรคการเมืองตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เพื่อการกีฬา เพื่อพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ลดได้ 2 เท่าตามเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักลดหย่อน
  • เงินบริจาคทั่วไป ตามบริจาคจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักลดหย่อน

กลุ่มค่าลดหย่อนอื่น ๆ

  • โครงการบ้านหลังแรก ตามจ่ายจริงไม่เกิน 200,000 บาท เฉพาะปีภาษี 2562*
  • ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจ Startup ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าซ่อมบ้านน้ำท่วม ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท*
  • ค่าซ่อมรถน้ำท่วม ตามจ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท*
  • ช้อปช่วยชาติ ตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท*
  • ค่าลดหย่อนท่องเที่ยว ตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 – 20,000 บาท*
  • ค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท*
  • ค่าลดหย่อนสินค้า OTOP ตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท*
  • ค่าลดหย่อนหนังสือและ e-book ตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท

*ค่าลดหย่อนที่มีกำหนดระยะเวลาที่เกิดค่าใช้จ่ายนั้น ให้ตรวจสอบอีกครั้งก่อนใช้สิทธิ์ ดังนั้นการศึกษาเรื่องค่าลดหย่อนภาษี จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ได้ยื่นภาษีแบบได้เงินคืน เพราะค่าลดหย่อนที่มากขึ้น ทำให้เงินได้สุทธิน้อยลง เมื่อนำไปคูณอัตราภาษี ก็จะได้ภาษีที้ต้องชำระน้อยลง คนที่จ่ายเกินไปก็จะได้คืน

4. เตรียมเอกสารให้พร้อม

เอกสารในการยื่นภาษีเป็นเรื่องจำเป็น ควรเตรียมเอกสารไว้ให้พร้อมก่อนถึงช่วงยื่น ได้แก่ หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ และบิลค่าใช้จ่าย เอกสารการจ่ายเบี้ยประกันต่าง ๆ

5. การสมัครพร้อมเพย์

เป็นอีกหนึ่งวิธีสำหรับการยื่นภาษีแบบได้เงินคืน จะทำให้ได้เงินเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น โดยทางกรมสรรพากรจะโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นพร้อมเพย์ของเรา ไม่ต้องเสียเวลานำเอกสารไปขึ้นที่ธนาคาร

ยื่นภาษีออนไลน์

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการเบื้องต้นที่ค่อนข้างครอบคลุม สำหรับผู้มีรายได้และต้องยื่นภาษี แถมเป็นวิธีการยื่นภาษีแบบได้เงินคืน เรื่องภาษีเป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม อาจจะยุ่งยากสักนิด แต่หากเราสละเวลามาศึกษาและยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้

ที่มา: itax.in.th

Share