LIV
AFTERWORK
เดี๋ยวนี้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่บ้านเราต่างโจ้เกมกันถ้วนหน้าจนเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระหว่างยืนอัดเป็นปลากระป๋องอยู่ในบีทีเอส ระหว่างรอกับข้าวเสิร์ฟในร้านอาหาร หรือแม้แต่นั่งเล่นกับชุดโฮมเธียเตอร์ที่บ้านแบบเกมเมอร์ของแท้และดั้งเดิม แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากการเล่นเกมจะสามารถมอบความเพลิดเพลินและช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี มันยังช่วยฝึกสมองให้คุณเป็นคนที่เก่งขึ้นได้ด้วยนะ ส่วนจะช่วยให้เก่งขึ้นยังไงบ้างไปดูกันเลย!
1.อยากทำงานเก่งขึ้นเหรอ? เล่นเกมแอ็กชันสิ!
การมีสมาธิรวมถึงทักษะการปั่นหลาย ๆ งานพร้อมกัน (Multi-tasking) ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับซาราริมัง (Salaryman) ทุกอาชีพในยุคนี้ ซึ่งถ้าหากคุณอยากขัดเกลาทักษะนี้ให้เฉียบคมขึ้นกว่าเดิม การเล่นเกมแอ็กชันก็เป็นทางหนึ่งที่สามารถช่วยได้นะ
ในปี ค.ศ. 2013 Dr. Andrea Facoetti และทีมงานพบว่าการเล่นวิดีโอเกมแนวแอ็กชัน (เดินหน้ายิง ต่อสู้ ฟันแหลก ฯลฯ) ช่วยพัฒนาสมอง ช่วยเพิ่มสมาธิ และช่วยฝึกการทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันให้กับผู้เล่นได้ โดยพวกเขาได้ทดลองกับเด็กพิเศษที่มีอาการของโรค Dyslexia (อาการผิดปกติที่ทำให้มีปัญหาด้านการอ่านและการตีความ) ด้วยการให้เด็กพิเศษที่มีอาการดังกล่าวจำนวน 10 คนเล่นเกมแอ็กชันนานประมาณชั่วโมงครึ่งต่อเนื่องนาน 9 วัน หลังจากนั้นเธอได้นำคะแนนสอบทักษะด้านการอ่าน การพูด และการจดจ่อความสนใจของเด็กกลุ่มนั้นจำนวน 2 ชุด (ชุดหนึ่งเก็บก่อนการทดลองอีกชุดหนึ่งเก็บหลังการทดลอง) มาเทียบกัน สิ่งที่น่าตกใจคือคะแนนสอบของเด็ก ๆ ที่ได้หลังจากการเล่นเกมแอ็กชันนั้นสูงขึ้นเป็นอย่างมาก กลุ่มเด็กพิเศษสามารถอ่านได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องเทียบเท่ากับการใช้เวลาพัฒนาทักษะด้านการอ่านตามธรรมชาตินาน 1 ปีเลยทีเดียว
สาเหตุของความน่าทึ่งนี้มาจากการที่เกมแอ็กชันส่วนใหญ่จะมีวัตถุที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว (ทหารข้าศึก เอเลี่ยน ซอมบี้ ฯลฯ) และผู้เล่นมักจะต้องพบกับช่วงเวลาคับขันที่ต้องคิดต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ผลก็คือมันช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของสมองส่วนหนึ่งได้เป็นอย่างดี สรุปคือเกมแอ็กชันช่วยให้กลุ่มเด็กพิเศษได้เรียนรู้วิธีจดจ่อความสนใจของตัวเองได้ดีขึ้น และมันมีผลโดยตรงกับความสามารถด้านการอ่านนั่นเอง
2.ไม่ต้องไปจ้างติวเตอร์ภาษาที่ไหน เรียนเอาเองจากในเกมนี่แหละ
นอกจากเรื่องการฝึกสมองฝึกสมาธิ การเล่นเกมยังสามารถช่วยฝึกภาษาอังกฤษให้เกมเมอร์ได้ด้วยนะ โดยนอกจากจะช่วยให้คุ้นเคยกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากขึ้น มันยังกระตุ้นให้เกมเมอร์อยากจะเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย ในบ้านเรามีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์จากการเล่นวิดีโอเกมในด้านนี้โดยตรง โดยคุณ Yupawan Baines ได้ทดลองใช้วิดีโอเกมพัฒนาความรู้ด้านคำศัพท์อังกฤษในหมู่เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-3 ของโรงเรียนเพลินพัฒนาเมื่อปี 2013
เธอได้แบ่งเด็กนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียนภาษาอังกฤษโดยมีภาพประกอบแบบทั่วไป ส่วนกลุ่มที่สองเรียน
โดยการเล่นวิดีโอเกมชื่อว่า 'Fun English Vocabulary' หลังการทดลอง เธอพบว่าคะแนนเฉลี่ยผลสอบภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนกลุ่มที่สองสูงขึ้นเป็นอย่างมากหากเทียบกับคะแนนเฉลี่ยผลสอบก่อนการทดลอง และพอจะสรุปได้ว่าการใช้วิดีโอเกมเป็นสื่อการสอนช่วยให้เด็กจำคำศัพท์ได้มากขึ้น รวมทั้งทำให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีกับการเรียนภาษาอังกฤษด้วย
เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของตัวกระผมเองที่เริ่มทำการสำรวจในช่วงต้นปี 2015 ในหัวข้อว่า “ทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับการใช้วิดีโอเกมเป็นเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ภาษาอังกฤษ” ซึ่งจากคำตอบของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 120 คน พอจะนำมาสรุปคร่าว ๆ ได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มองว่าวิดีโอเกมสามารถช่วยพัฒนาทักษะการอ่าน การฟังภาษาอังกฤษให้กับตัวเอง รวมทั้งช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับเกมเมอร์ ทั้งนี้ประเภทของเกมที่ต่างกันก็ช่วยฝึกภาษาให้เกมเมอร์ได้มากน้อยต่างกัน โดยเกมเมอร์ไทยหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าเกมแนวสวมบทบาท (RPG) สามารถใช้ฝึกภาษาได้ดีที่สุด เพราะเป็นเกมเน้นเนื้อเรื่อง มีศัพท์อังกฤษเยอะ บทสนทนาก็แยะ ทำให้ผู้เล่นต้องลงทุนลงแรงฝึกภาษาด้วยตัวเองเพิ่มหากต้องการเข้าใจเรื่องราวในเกมอย่างแจ่มแจ้ง เช่นเดียวกับเกมแนวสวมบทบาทออนไลน์ (MMORPG) ซึ่งผู้เล่นต้องรู้จักเปิดบทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษหากต้องการคุยกับเกมเมอร์ต่างชาติให้รู้เรื่อง
3.เกมช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสให้เฉียบแหลม
พัฒนาสมองไปก็แล้ว พัฒนาภาษาไปก็แล้ว เกมยังช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสให้เกมเมอร์เป็นโบนัสได้อีกต่างหาก เรื่องนี้งานวิจัยในปี ค.ศ. 2013 (อีกแล้ว) ของคุณ Adam Chie-Ming Oei และคุณ Michael Donald Patterson เขาได้พิสูจน์เอาไว้แล้ว โดยทั้งสองได้ทำการทดลองกับนักศึกษาจำนวน 70 คน ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ซึ่งไม่ได้เป็นเกมเมอร์ขาประจำ โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่ม และให้เล่นวิดีโอเกมชนิดต่าง ๆ บนมือถือ iOS ไล่ตั้งแต่แนวแอ็กชัน, จดจำตำแหน่ง, จับคู่ 3, หาวัตถุที่ถูกซ่อน และเกมซิมูเลชั่นจำลองชีวิต ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทุกคนจะได้เล่นเกมวันละ 1 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 20 วัน
หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาทดลอง นักวิจัยทั้งสองพบว่าวิดีโอเกมชนิดต่าง ๆ สามารถช่วยพัฒนาทักษะด้านการรับรู้ได้แตกต่างกันไป เช่น เกมแอ็กชันจะช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสของสมองในด้านการควบคุม การรับรู้ และการติดตามวัตถุหลายชิ้นพร้อม ๆ กัน ในขณะที่เกมแนวหาวัตถุที่ถูกซ่อนจะช่วยพัฒนาด้านการจดจำตำแหน่งของวัตถุ เป็นต้น สรุปสั้น ๆ ได้ว่าวิดีโอเกมสามารถนำไปใช้ฟื้นฟูทักษะการรับรู้ได้ ถ้าหากทักษะรับรู้หรือประสาทสัมผัสนั้น ๆ เป็นแบบเดียวกับที่ผู้เล่นต้องใช้ในตอนเล่นเกมนั้น ๆ
4.เล่นมากไปก็ไม่ดีนะจ๊ะ
ถึงแม้การเล่นเกมจะมีประโยชน์ต่อผู้เล่นหลายอย่าง แต่ก็เหมือนกับกิจกรรมทุกอย่างที่เล่นมากไปก็ไม่ดีเหมือนกัน เพราะอาจทำให้คุณมีอาการ “ติดเกม” ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่ว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาประกาศว่าอาการดังกล่าวเป็นโรคใหม่อย่างเป็นทางการ ในชื่อว่า “Gaming Disorder” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้นิยามมันคร่าว ๆ ว่า “ความผิดปกติอันเนื่องมาจากการที่ผู้เล่นไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกมของตัวเองได้” หมายความว่าการเล่นเกมกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญกว่าเรื่องอื่นในชีวิต แม้ว่าตัวผู้เล่นจะมองเห็นผลกระทบด้านลบของมันแล้วก็ยังไม่สนใจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ชอบเล่นเกมจะโดนเหมาว่าเป็นโรคนี้กันหมด ผู้ป่วยเป็นโรคนี้จะต้องถูกวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางว่าพฤติกรรมการเล่นเกมของเขาส่งผลลบต่อการศึกษา การทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้นต่อให้คุณเล่นเกมเยอะมากแต่ชีวิตส่วนตัวและคนรอบข้างยังอยู่ดีมีความสุขก็ถือว่าไม่ได้เป็นโรคนี้จ้ะ เกมเมอร์ผู้ช่ำชองทั้งหลายก็อย่าลืมแบ่งเวลาออกไปทำเรื่องอื่นในชีวิตกันด้วยนะ
ส่วนใครที่กำลังฝึกสมอง ฝึกภาษา และฝึกประสาทสัมผัสไปพร้อมกับการโจ้เกมบนมือถือแข่งกับชาวบ้าน แล้วพบว่าเน็ตมันไม่เร็ว ไม่ขิง กิ๊กไม่พอ ลองใช้แพ็กเกจ dtac x Free Fire 49 บาท / 3GB / 1 วัน, 199 บาท / 10GB / 7 วัน หรือ 599 บาท / 12GB / 30 วัน หรือ Super Non-stop 899 / 30GB / WIFI ไม่จำกัด